วิธีเลือกซื้อกระเทียม
การเลือกซื้อกระเทียมควรดูที่การใช้งานเป็นหลัก หากใช้ประกอบอาหารเป็นประจำควรซื้อกระเทียมหัวแบบมัด แต่หากใช้ปริมาณน้อย ควรเลือกซื้อกระเทียมชนิดหัวหรือซื้อปริมาณน้อย และไม่ควรซื้อกระเทียมกลีบ เพราะจะฝ่อง่าย กระเทียมที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
- หัวกระเทียมแห้งและมีขนาดใหญ่
- กลีบกระเทียมเกาะกันแน่น ไม่มีกลีบหลุด
- เปลือกกระเทียมหุ้มตัวกระเทียมอยู่ดี ไม่ฉีกขาดมีสีขาวหรือสีชมพูอ่อนอมม่วง
รู้ไว้ก่อนกินกระเทียม
แม้กระเทียมจะมีประโยชน์มหาศาล แต่ก็มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งหากฉลาดใช้ ฉลาดกินกระเทียมแล้ว ก็สามารถลดผลข้างเคียงเหล่านี้ได้
ผลจากกลิ่นของกระเทียม กลิ่นของกระเทียมนั้นทำให้เกิดกลิ่นปากและกลิ่นตัว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากลิ่นและรสของกระเทียมสามารถถ่ายทอดออกมาทางน้ำนมแม่ได้ด้วย หญิงให้นมบุตรจึงไม่ควรกินกระเทียมหรือสารสกัดกระเทียม (สารสกัดกระเทียม, กระเทียมบดและปั่นด้วยเครื่องปั่น) เพราะทำให้น้ำนมมีกลิ่นกระเทียม อาจส่งผลให้เด็กทารกไม่ชอบนมแม่ยังมีรายงานว่า ผู้ที่สูดดมกลิ่นกระเทียมหรือสารสกัดกระเทียมเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการหอบหีดและเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ
ผลต่อระบบย่อยอาหาร หากรับประทานขณะท้องว่างจะทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองและจุกเสียดลิ้นปี่ ทำให้ร้อนในในปาก ลำไส้ระคายเคือง ท้องเสีย มีลมในกระเพาะอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้รับประทานกระเทียมพร้อมกับสารอาหารประเภทโปรตีน เพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
ผลต่อผิวหนัง น้ำมันหอมระเหยในกระเทียมอาจทำให้ผิวหนังระคายเคือง อาการพอง เม็ดตุ่มใส แผลไหม้ และเกิดผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis)
ผลต่อการแข็งตัวของเลือด กระเทียมมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ยับยั้งการรวมตัวกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดเหลวและแข็งตัวช้า ดังนั้น ควรระมัดระวังการรับประทานนกระเทียมร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดและยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด และควรกินกระเทียมแต่พอดีเป็นระยะเวลา 4 – 8 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัดหรือการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด
ผลต่อผู้ป่วยโรคไมเกรน รายงานจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า กระเทียมกระตุ้นอาการไมเกรนได้ ซึ่งยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า กระเทียมกระตุ้นการผลิตโปรตีนในเส้นประสาทซึ่งส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดในสมอง
ผลต่อผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้ละอองเกสรดอกไม้จะมีโอกาสแพ้กระเทียมได้มากกว่าคนทั่วไป
ผลต่อความสมดุลในร่างกาย แพทย์แผนไทยจัดให้กระเทียมเป็นสมุนไพรฤทธิ์ร้อน จึงไม่เหมาะสมต่อผู้ที่มีธาตุไฟเป็นเจ้าเรือน เพราะจะส่งผลให้สมดุลในร่างกายเสียและมีอาการดังต่อไปนี้ หน้าแดง คอแห้ง ท้องผูก ร้อนใน กระหายน้ำ กระเพาะอาหารเป็นแผลหรืออักเสบเรื้อรัง มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป
วิธีสังเกตอาการแพ้กระเทียม
สัญญาณเตือนว่าร่างกายแพ้กระเทียมมีดังต่อไปนี้ คลื่นไส้ ท้องเสีย มึนงง หัวใจเต้นแรง และตัวบวมหลังกินกระเทียมหากมีอาการดังกล่าวควรหยุดรับประทานและพบแพทย์
รู้จักกระเทียมโทน
กระเทียมโทนขึ้นชื่อว่าเป็นกระเทียมที่หายากและมีประโยชน์ไม่แพ้กระเทียมทั่วไป
สรรพคุณของกระเทียมโทนคือ บรรเทาอาการไอ โรคผิวหนัง ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันเลือดจับตัวเป็นก้อน
ลักษณะของกระเทียมโทนคือ เป็นเม็ดเดี่ยว ไม่มีกลีบร่วมมีเนื้อเยอะ กลิ่นฉุนน้อยกว่า ทำให้คนนิยมนำมาทำเป็นอาหารและเครื่องแนมอาหาร แต่กระเทียมโทนนั้นค่อนข้างหายากกว่ากระเทียมทั่วไป คนโบราณจึงคิดค้นวิธีถนอมอาหารด้วยการดองกระเทียมโทนขึ้นมา เพื่อให้สามารถรับประทานได้ตลอดปี
แม้กระเทียมโทนดองจะไม่มีสารอัลลิซินที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายเหมือนกระเทียมทั่วไป แต่กระเทียมโทนมีสาร S-Allylcysteine ซึ่งช่วยเสริมสร้างร่างกายและบำบัดอาการเจ็บป่วยได้เช่นเดียวกัน
กระเทียมโทนดองนั้นสามารถหาซื้อได้ทั่วไปหรือทำเองเพื่อเก็บไว้รับประทานภายในครัวเรือนก็ได้ หนังสือ บันทึกของแผ่นดิน 6 สมุนไพรท้องไส้…ในวิถี ASEAN โดยมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี อธิบายถึงวิธีการทำกระเทียมโทนดอง ดังนี้
กระเทียมโทนดองสูตรโบราณ
ส่วนผสม
- กระเทียมโทน 1 กิโลกรัม
- เกลือทะเล 3 ช้อนโต๊ะ
- น้ำผึ้ง 1 ขวด
อุปกรณ์
- ขวดโหลสะอาด ขวด
วิธีทำ
- ปอกกระเทียม ล้างให้สะอาด ผึ่งจนสะเด็ดน้ำ
- ใส่กระเทียมลงไปในโหล เหลือพื้นที่ว่างจากปากโหล ประมาณ 1 นิ้วครึ่ง
- เติมเกลือ
- ใส่น้ำผึ้งพอท่วมกระเทียม ไม่ควรใส่เต็มโหล
- ปิดฝาให้สนิทเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา
- ทิ้งไว้ 1 เดือนจึงนำมารับประทานได้